วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การละเล่นของเด็ก

          การเล่นเป็นชีวิตจิตใจของเด็ก ไม่มีเด็กคนไหนที่ไม่ชอบเล่น ไม่ว่าจะเล่นคนเดียว หรือเล่นกับเพื่อนๆ การเล่นและเด็กจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น เด็กที่ไม่รู้จักเล่น หรือไม่ชอบเล่น อาจกล่าวได้ว่า ผิดธรรมชาติ เป็นเด็กซึ่งไม่สมบูรณ์ทางกายหรือสมอง การเล่นไม่ใช่การใช้เวลาสูญเปล่า แต่เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ในการส่งเสริมความสามารถทางกาย จิตใจ และช่วยให้มีมนุษยสัมพันธ์อันดี ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จในชิวิต ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า "เมื่อไรควรเล่น" การเล่นจะให้ประโยชน์อย่างไร แม้ในบางครั้งก็ยังใช้ "การเล่น" เป็นสื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่าวิธีอื่น

          การเล่นเป้ายิงฉุบ ท่ากรรไกรตัดกระดาษ การเล่นของเด็กไทย ก็มีหลายอย่างที่เหมือนกับเด็กชาติอื่น และที่แตกต่างเป็นของไทยโดยเฉพาะก็มี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม และธรรมชาติของแต่ละชาติ เช่น การเล่นซ่อนหาในยุโรป ก็มีเล่นกันมาก วิธีเล่นอาจแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อย การเล่นของเด็กในเอเชียที่คล้ายกันได้แก่ หมากเก็บ ในอินเดียว และฟิลิปปินส์ก็มี แต่วัสดุที่นำมาเล่นต่างกัน ดังนี้เป็นต้น
          การละเล่นของเด็กไทย ที่จะนำมากล่าวถึง จะเป็นเพียงตัวอย่าง ที่เลือกมาจากที่เล่นกันอยู่ในสมัยโบราณ เฉพาะที่มีคุณค่า ในการพัฒนาเด็กในด้านต่างๆ การเล่นบางอย่างยังยืนยงมาถึงปัจจุบัน บางอย่างก็หมดไป ด้วยเหตุที่วัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาแทนที่ เพราะเด็กขาดความอิสระเสรีในการเล่น พ่อแม่ ครูเข้ามามีบทบาทในการกำหนดการเล่นของเด็กมากขึ้น การเล่นแบบเดิมนี้ จึงควรอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติวัฒนธรรมของไทย ให้เด็กรุ่นหลังได้รู้จัก และเพื่อศึกษาลักษณะสังคมไทยในสมัยนั้นๆ
          ปัญหาการเล่นของเด็ก
          การเล่นของเด็กจะต้องมีปัญหาเริ่มเล่น เช่น ปัญหาการแบ่งพวก ปัญหาตัวคนที่จะต้องแยกจากหลายๆ คน เช่น การเล่นชักเย่อ มีปัญหาในเรื่องการแบ่งพวก อ้ายเข้อ้ายโขง มักมีปัญหาในเรื่องตัวคนเป็นอ้ายเข้ คือ จะต้องหาทางยุติไม่ให้เกี่ยงกัน หรือแย่งกัน ทางยุติปัญหาในการเล่นของเด็กมีหลายวิธี ไม่ทราบว่าผู้ใดคิดขึ้น และก็มีกันมานานแล้ว
          ทางยุติปัญหา
           ทางยุติปัญหาที่ใช้กันอยู่มากในปัจจุบันมีดังนี้
การจับไม้สั้นไม้ยาว
ผู้เล่นผู้หนึ่งจัดหาไม้หรืออะไรที่คล้ายกัน มีจำนวนเท่าผู้เล่น ให้ไม้มีความสั้นยาวไม่เท่ากัน กำให้แน่น แล้วให้ผู้เล่นจับ โดยวิธีดึงออกไป อันสุดท้ายเป็นของผู้ทำ ถ้าใครจับได้ไม้สั้นที่สุด หรือยาวที่สุด ก็ต้องเป็นตามที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนแล้ว การจับไม้สั้นไม้ยาว ผู้ทำอาจทำให้ผู้จับเกิดความลังเล ก็จะเป็นการสนุกอีกอย่างหนึ่ง

จี้จุ๊บ

ผู้เล่นผู้หนึ่งจะกางมือคว่ำลง แล้วยื่นไปข้างหน้าให้ผู้เล่นอื่นๆ เอานิ้วชี้ไปจดฝ่ามือผู้ที่ยื่นมือไปจะร้องจี้จุ๊บ พอร้องจบถึงคำสุดท้ายก็จะคว้านิ้วชี้ของผู้เล่นอื่นๆ ถ้าจับได้ใคร คนนั้นต้องเล่นเป็นตามที่ตกลงกันไว้ ถ้าคว้าไม่ได้ต้องทำใหม่ ๓ ครั้ง ถ้าคว้าไม่ได้อีกผู้ที่เป็นคนคว้าต้องเป็นเอง บทร้องประกอบการเล่นมีว่า จุ้มจาลีจี้จาหลบ กินขี้กบ หลบไม่ทัน (มีหลายบท)การยุติปัญหานี้ เป็นการเล่นชนิดหนึ่งสำหรับเด็กเล็กๆ ที่ผู้ใหญ่ล่อให้เด็กเกิดความเพลิดเพลิน เวลาร้องไห้งอแงได้ด้วย
เป้ายิงฉุบ
ผู้เล่น ๒ คน เอามือซ่อนไว้หลังหู แล้วทำมือเป็นรูปต่างๆ คือ กระดาษ ค้อน กรรไกร ถ้าแบมือกางนิ้วหมายถึง กระดาษ ถ้าทำมือเป็นรูปกำปั้นหมายถึง ค้อน ถ้าชูนิ้วสองนิ้วหมายถึง กรรไกร

วิธีเล่น ต้องหันหน้าเข้าหากัน ยืนห่างกันพอสมควร พอร้องเป้ายิงฉุบ แล้วต่างก็ยื่นมือออกไปข้างหน้าเป็นรูปตามที่ต้องการ ถ้าฝ่ายไหนมีอำนาจกว่า ฝ่ายนั้นก็ชนะ คือ ค้อนทุบกรรไกร กรรไกรตัดกระดาษ กระดาษห่อค้อน การเล่นเป้ายิงฉุบ นอกจากใช้เป็นการตัดสินคู่สุดท้ายที่ยังตกลงกันไม่ได้ ยังเป็นการเล่นที่สนุกสนานอีกด้วย
โออาเหล่าตาแป๊ะ
ผู้เล่น ๓ คนขึ้นไป ยืนล้อมวงกัน ทุกคนยื่นมือไปข้างหน้าพร้อมกับแกว่งมือขณะร้องโออาเหล่าตาแป๊ะ พอจบคำตาแป๊ะ จะหงายหรือคว่ำมือ ถ้าใครผิดแปลกออกไปทางจำนวนน้อย คนนั้นต้องออกไป ทำเช่นนี้จนถึงคนสุดท้าย การคัดออกวิธีนี้ เป็นการเล่นไปด้วย วิธีนี้คล้ายการเล่นทางภาคใต้ที่เรียกว่า ลาลาตี้ทำบ็อง

เสือกินวัว
การเล่นชนิดนี้ในภาคใต้ ผู้เล่นเป็นเสือคนหนึ่ง เป็นวัวคนหนึ่ง นอกนั้นเป็นคอก จับมือต่อกันเป็นวง ห่างกันพอช่วงแขน วัวอยู่ในคอก เสืออยู่นอกคอก เสือจะพยายามวิ่งเข้าไปจับวัวในคอก วัวก็ต้องพยายามหนี ถ้าเสือเข้าไปในคอกได้ วัวก็ต้องวิ่งหนีออกนอกคอก คอกก็ต้องพยายามกันเสืออย่างเหนียวแน่นไม่ให้มือหลุดจากกันได้ แต่จะเปิดทางให้วัวหนีเสือโดยสะดวก เสือและวัวต้องมีไหวพริบว่า จะผ่าคอกทางไหน เสือบางตัววิ่งชนคอกพังเป็นแถบก็มี การไล่ และการหนีของเสือและวัว ทำให้ได้รับความสนุก และขบขันทั้งผู้ดู และผู้เล่น
การเล่นประเภทนี้เป็นการเล่นเลียนพฤติกรรมสัตว์ เป็นการออกกำลังมาก ฝึกความพร้อมเพรียง ความว่องไว และไหวพริบ
ภาคกลางก็มีการเล่นชนิดนี้ เรียกว่า "หมาไล่ห่าน" และยังมี "เสือไล่หมู" ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งแปลกออกไป ตรงที่มีบทร้องประกอบ ขณะที่คอกจับมือล้อมวง ก็ร้องไปด้วย ทำให้สนุกไปอีกแบบหนึ่ง
การเล่นเสือไล่หมู
การเล่นเสือไล่หมู     บทร้องประกอบการเล่นมีว่า หมูจีบหมูจ้อย หมูน้อยกินรำ เดือนมืดเดือนค่ำ ไล่หมูเข้าคอก แค่ศอกแค่วา อีกามันเห็น อีกามันร้อง ถือไม้คดค้อง บีบนมสาวเล่น มะเขือขาวลอยมา เอาควายไปสน ที่ต้นไม้ใหญ่ เสือโว้ยมากินหมูแล้ววา

ภาคเหนือมีการเล่นชนิดนี้เหมือนกัน เรียกว่า "แมวกินน้ำมัน" คนหนึ่งเป็นแมว อีกคนหนึ่งเป็นเจ้าบ้าน ที่เหลือเป็นบ้าน มีข้อแปลกออกไปคือ เจ้าของบ้านทำเป็นเอาน้ำมันหยอดลงในมือของคนหนึ่งที่จับกันเป็นวง แล้วออกไปนอกวง แมวเข้าไปในวง ทำท่ากินน้ำมัน แล้วแอบออกไป เจ้าของบ้านกลับเข้าไปเห็นน้ำมันหายไป ก็ถามคนในวง ตอบได้ความว่า แมวกิน เจ้าของบ้านถามหาทางที่แมวไป แล้ววิ่งตาม การเล่นของภาคนี้ มีการสมมุติเลียนแบบสังคมจริง เช่น คนทำเป็นบ้าน ไม่ช่วยแมวผู้ทำผิด เจ้าของบ้านมีสิทธิ์ฝ่าเข้าไปได้ เป็นการส่งเสริมคุณธรรมตามกติกาของสังคมจริง

ตี่จับ
การเล่นชนิดนี้ มีทั้งในภาคกลาง และภาคใต้ ใช้ผู้เล่นกี่คนก็ได้ แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย เท่าๆ กัน
วิธีเล่น ให้ทั้งสองฝ่ายจับไม้สั้นไม้ยาวว่า ใครจะเริ่มเล่น โดยเลือกพวกของตนคนหนึ่งเป็นคนเข้าไปตี่ คนตี่จะออกเสียง "ตี่" หรือ "หึ่ม" เข้าไปในแดนฝ่ายตรงข้าม เอามือพยายามแตะฝ่ายตรงข้าม ในขณะเดียวกันฝ่ายตรงข้ามต้องคอยยึดตัวไว้ ไม่ให้กลับเข้าแดนของตนได้ หากผู้ที่ถูกจับขาดเสียง "ตี่" หรือ "หึ่ม" ผู้นั้นต้องมาเป็นเชลยของฝ่ายตรงข้าม แต่ถ้าสามารถหนีกลับเข้าแดนของตนได้ คนที่ถูกแตะ จะกี่คนก็ตาม ต้องไปเป็นเชลยของฝ่ายที่เข้ามาตี่ เมื่อมีฝ่ายของตนเป็นเชลย ผู้ที่ตี่คนต่อไปต้องพยายามช่วยพวกของตัวให้กลับมาให้ได้ ฝ่ายตรงข้ามต้องคอยกันไม่ให้แตะกันได้ ถ้าแตะกันได้ เชลยจะได้กลับแดนของตน เล่นกันเช่นนี้จนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะหมดตัวผู้เล่นก่อน ฝ่ายชนะมีสิทธิ์ที่จะปรับฝ่ายแพ้ให้ทำอะไรก็ได้ การเล่นชนิดนี้ ฝึกความอดทน การใช้พละกำลัง และความมีไหวพริบ ความรักพวกรักพ้อง
เสือข้ามห้วย
วิธีเล่น มี ๒ แบบ คือเล่นเดี่ยว และเล่นหมู่
เสือข้ามห้วยเดี่ยว
ก่อนเล่นต้องจับไม้สั้นไม้ยาว หาผู้ที่จะเป็นห้วย ๑ คน คนอื่นๆ เป็นเสือ กระโดดข้ามผู้เป็นห้วย ซึ่งจะเหยียดขา ๑ ข้าง ข้างใดก็ได้ เหยียดขาทับบนข้างเดิมให้ส้นเท้าต่อบนหัวแม่เท้า ถ้าเสือโดดข้ามพ้นห้วยจะต่อท่าให้สูงขึ้นทุกที โดยเหยียดแขนข้างหนึ่ง ตั้งบนขาทั้งสองข้าง ให้นิ้วก้อยตั้งบนหัวแม่เท้า กางนิ้วห่าง ๆ กัน ท่าต่อไปก็คือ เหยียดแขนอีกข้างหนึ่งต่อบนมือข้างเดิม ให้นิ้วก้อยตั้งบนนิ้วหัวแม่มือของข้างเดิม ต่อไปนั่งหมอบ ชักเงี่ยงโดยใช้ข้อศอกข้างหนึ่ง ยักขึ้นยักลง ต่อไปจะชักเงี่ยงทั้งสอง ใช้ข้อศอกทั้งสองข้างยัก ท่าสุดท้ายลุกขึ้นยืนแล้วก้มตัวใช้ปลายนิ้วมืดจรดนิ้วเท้า ถ้าเสือกระโดดข้ามท่าใดท่าหนึ่งไม่พ้น ต้องมาเป็นห้วยแทน ต่อจากขั้นที่กระโดดไม่พ้น แต่ถ้าเสือข้ามพ้นทุกขั้น ผู้เป็นห้วยจะถูกลงโทษ โดยพวกเสือจะช่วยกันหามไปทิ้ง แล้ววิ่งกลับมาที่เล่น ผู้เป็นห้วย ต้องพยายามจับให้ได้ ถ้าจับคนหนึ่งคนใดได้ คนนั้นต้องเป็นห้วย
การเล่นเสือข้ามห้วยหมู่
การเล่นเสือข้ามห้วยหมู่ การเล่นชนิดนี้ผู้เป็นเสือ ได้ฝึกความสังเกต และความสามารถ ในการกระโดดสูง และสำหรับผู้ที่เป็นห้วย ได้บริหารส่วนแขนและขา ตามท่าต่างๆ อีกด้วย

ภาคใต้มีการเล่นชนิดนี้ เรียกว่า "ปลาวิ่งป้อง" เรียก "เสือ" เป็น "ปลา" "ห้วย" เป็น "ป้อง" บางจังหวัดก็เรียก "ช้างข้ามห้วย"
สีซอ
ผู้เล่น ๒ คน อุปกรณ์การเล่น มีเส้นด้าย หรือเชือกเส้นเล็กๆ ขนาดยาวพอสมควร ผูกเป็นวงกลม เชือกต้องไม่สั้นเกินไป มิฉะนั้นจะสีซอไม่ได้

การเล่นสีซอวิธีเล่น คล้องเชือกด้วยนิ้วชี้และนิ้ว ก้อยทั้ง ๒ ข้าง ผู้เล่นคนแรก สอดนิ้วกลางไปที่เส้นเชือกทั้งสองมือ เส้นเชือกจะอยู่ในลักษณะไขว้กัน ๒ ปม มีเส้นตรงคู่ขนานอยู่ด้านนอกด้านละ ๑ เส้น ผู้เล่นอีกคนหนึ่งสอดมือเข้าระหว่างเชือก ที่เป็นปมกับเส้นขนาน กดเส้นตรงทั้งสองเส้นลง มือของผู้ถือเชือกจะอยู่ในท่าพนม ผู้เล่นอีกคนหนึ่ง เอาห่วงตรงนิ้วหัวแม่มือคล้องข้าม มือไปไว้ระหว่างนิ้วนาง และนิ้วก้อย และเอาห่วงตรงนิ้วก้อยสลับข้ามมาคล้องทิ้งไว้ระหว่างนิ้วชี้ และนิ้วหัวแม่มือ ผู้ถือเชือกกางมือออก เชือกจะมีลักษณะไขว้กัน ๒ อัน ผู้เล่นอีกคนหนึ่ง ใช้นิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้ทั้งสองมือที่จับปม ไขว้สอดลงใต้เส้นตรงทั้งสองเส้น ดึงเชือกออกจากมือ ผู้ถือคนแรก เส้นเชือกจะอยู่ในลักษณะไขว้เป็นตารางขนมเปียกปูนเล็กๆ โดยมีปมไขว้สี่ปม คือ ปมด้านข้างสองปม และปมด้านหน้ามือสองปม ผู้เล่นอีกคนหนึ่งใช้นิ้วชี้ และนิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างจับปมที่ด้านข้าง ยกขึ้นมาสอดลงระหว่างช่องว่าง ดึงเชือกออกจากมือผู้ถือ เชือกจะเปลี่ยน เป็นรูปเส้นขนาน ๒ เส้น อยู่ตรงกลาง คู่ขนาน ๒ คู่อยู่ด้านนอก ใช้นิ้วก้อยทั้งสองข้างเกี่ยวเส้น ขนานด้านในข้างละเส้นสลับมือกัน โดยเกี่ยวดึงไขว้มา แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือสอดเส้นคู่ทั้งสองขึ้น เชือกจะเปลี่ยนเป็นเส้นขนาน ๒ เส้นอยู่ด้านบน ปมไขว้สองปมอยู่ด้านล่าง ผู้เล่นอีกคนหนึ่งจับปมด้วยนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้ ยกสอดลงระหว่างเส้นคู่ขนานด้านบน เชือกจะกลายเป็นปมรูปขนมเปียกปูนอันใหญ่หนึ่งอัน ใช้นิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้ จับที่ปม กดลงล่าง เชือกจะเปลี่ยนรูปไปเป็นสี่เหลียมขนมเปียกปูน ที่มีเส้นคู่ขนานอยู่ภายในเป็นแกนกลาง ผู้เล่นอีกคนหนึ่งจะได้สีซอ โดยการดึงเส้น คู่ขนาน ๑ เส้นขึ้นเส้นหนึ่ง ดึงลงไปๆ มาๆ เหมือนเวลาสีซอ เป็นอันจบเกมการละเล่นชนิดนี้การเล่นชนิดนี้ฝึกความสังเกตและความคิด

หมากเก็บ
วิธีเล่น มีการเสี่ยงทายว่าใครจะได้เล่นก่อน ด้วยวิธีขึ้นร้าน คือ ถือหมากทั้งห้าเม็ด (จะใช้อะไรก็ได้ ที่มีลักษณะกลม แต่ไม่ถึงกับกลิ้งไปมา) ไว้แล้วโยนพลิกเอาหลังมือรับ แล้วพลิกมือกลับรับอีกที ใครได้มากที่สุด คนนั้นเล่นก่อน มีทั้งหมด ๕ หมาก หมากที่ ๑ ทอดหมากให้ห่างๆ กัน เลือกลูกนำไว้ ๑ เม็ด ใช้เม็ดกรวดที่ห่างที่สุดโยนเม็ดนำขึ้น แล้วเก็บทีละเม็ดพร้อมกับรับลูกนำ ที่หล่นลงมาให้ได้ ถ้ารับไม่ได้ ถือว่า "ตาย" ขณะหยิบเม็ดที่ทอดนั้น ถ้ามือไปถูกเม็ดอื่นก็ถือว่า ตาย คนอื่นเล่นแทนต่อไป และทำเช่นเดียวกันในหมากที่ ๒ แต่เก็บทีละ ๒ เม็ด หมากที่ ๓ เก็บ ๓ เม็ด และ ๑ เม็ด หมากที่ ๔ ใช้โปะไม่ทอด คือ ถือหมากทั้งหมดไว้ในมือ โยนลูกนำขึ้น แล้วโปะเม็ดที่เหลือลงพื้น แล้วรวมทั้งหมดถือไว้ "ขึ้นร้าน" ได้กี่เม็ดเป็นแต้มของคนนั้น ถ้าขึ้นร้านเม็ดหล่นหมด ใช้หลังมือรับไม่ได้ ถือว่า ตาย ไม่ได้แต้ม คนอื่นเล่นต่อในตาต่อไป ถ้าใครตายหมากไหน ก็เริ่มต้นที่หมากนั้นใหม่
วิธีเล่นหมากเก็บนี้ มีพลิกแพลงหลายอย่าง เช่น โยนลูกนำขึ้นเก็บเม็ดทีละเม็ด เมื่อเก็บได้เม็ดหนึ่ง ก็โยนขึ้นพร้อมลูกนำ ๒ - ๓ - ๔ เม็ดตามลำดับ หมาก ๒ - ๓ - ๔ ก็เล่นเหมือนกัน โยนขึ้นทั้งหมด และต้องรับให้ได้ทั้งหมด เรียกว่า หมากพวง
ถ้าโยนลูกนำขึ้นเล่นหมาก ๑ - ๒ - ๓ - ๔ แต่พลิกข้างมือขึ้นรับลูกนำให้เข้าในมือ ระหว่างนิ้วโป้ง และนิ้วชี้ โดยทำนิ้วเป็นรูปวงกลมเตรียมไว้ เรียกว่า หมากจุ๊บ ถ้าใช้มือซ้ายป้องกัน และเขี่ยหมากให้เข้าในมือนั้นทีละ ๑, , ๓ และ ๔ เม็ด ในหมาก ๑ , , ๓ และ ๔ ตามลำดับ เรียกว่า อีกาเข้ารัง ถ้าเขี่ยไม่เข้าจะ "ตาย" ถ้าใช้นิ้วกลาง กับนิ้วหัวแม่มือยันพื้น นิ้วอื่นปล่อย ทำเป็นรูปซุ้มประตู เขี่ยหมากออก เรียกว่า อีกาออกรัง ถ้าใช้นิ้วกลางกับนิ้วหัวแม่มือขดเป็นวงกลม นิ้วชี้ชี้ตรง นิ้วนอกนั้นยันพื้นเป็นรูปเหมือนรูปู ก็ เรียกว่า รูปู เมื่อจบเกมการเล่นแล้ว จะมีการกำทาย ผู้ชนะ จะทายผู้แพ้ว่า หมากในกำมือมีกี่เม็ด ถ้าทายผิดต้องถูกเขกเข่าตามจำนวนเม็ดที่ตนเองทาย จนเหลือเม็ดสุดท้าย คนทายจะถือเม็ดไว้ในมือ แล้ววนพร้อมทั้งร้องเพลงประกอบ เมื่อร้องจบ เอามือหนึ่งกำไว้ งอข้อศอกขึ้นตั้งบนมือที่กำอีก ข้างหนึ่ง      การทายหมากเก็บ
การทายหมากเก็บ
บทร้องประกอบการเล่น คือ ตะลึงตึงตัง ข้างล่างห้า ข้างบนสิบ ถ้าทายผิดต้องโดนเขกเข่า

ภาคใต้เรียกการเล่นชนิดนี้ว่า "หมากโตน" ภาคเหนือเรียก "หมากเก็บไม้หรือไม้แก้งขี้" (เดิมใช้ไม้) แต่ละภาคมีการเล่นพลิกแพลงต่าง ๆ กัน การเล่นชนิดนี้ฝึกความสังเกต ความว่องไว ไหวพริบ และความจำ ภาคอีสาน เรียกว่า "เก็บเม็ด" "เก็บไม้"

ลิงชิงเสาหรือลิงชิงหลัก
จากหลักฐานในวรรณคดีเรียกการเล่นชนิดนี้ว่า "ลิงชิงเสา" ต่อมาไม่ได้เล่นเฉพาะใต้ถุนบ้านเท่านั้น นำไปเล่นกลางแจ้ง ปักหลักตามจำนวนคนเล่น แต่ให้หลักมีน้อยกว่าจำนวนคนหนึ่งคน
การเล่นลิงชิงเสา หรือลิงชิงหลัก
วิธีเล่น ใช้เสาเรือนเป็นหลัก ผู้เล่นอย่างน้อย ๓ คน หลักมีจำนวนน้อยกว่าคนเล่นหนึ่งคน จะมีคนหนึ่งที่ไม่มีหลักจับ ผู้เล่นทั้งหลายสมมุติเป็นลิง วิ่งเปลี่ยนหลักกัน จากหลักโน้นไปหลักนี้ ลิงที่ไม่มีหลักต้องคอยชิงหลักให้ได้ ถ้าชิงหลักของใครได้ คนนั้นต้องเป็นลิงหลักลอย คอยชิงหลักต่อไป การเล่นชนิดนี้ฝึกความสังเกต ความว่องไว ความมีไหวพริบ และเป็นการออกกำลังกายอย่างดี การเล่นลิงชิงหลักนี้มีในภาคใต้บางทีก็เรียกว่า "หมาชิงเสา" ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า "จ้ำหนูเนียม" วิธีเล่นแตกต่างออกไปคือ มีบทร้องประกอบว่า "จ้ำหนูเนียมมาเตียมถูกหลัก" ผู้ที่ไม่มีหลักเรียกว่า คนจ้ำจะร้องบทร้องบทนี้ แล้วชี้ไปยังหลักต่างๆ ถ้าคำว่า "หลัก" ไปตกที่คนใด คนนั้นต้องรีบเปลี่ยนเสา คนอื่นจะวิ่งไปจับหลักและเสาต้นอื่น คนจ้ำก็ต้องพยายามแตะตัวคนวิ่งให้ได้ ถ้าใครถูกแตะตัวก็ต้องเป็นคนจ้ำแทน


ขายแตงโม
วิธีเล่น ผู้เล่นไม่จำกัดจำนวน คนหนึ่งเป็นคนซื้อ อีกคนหนึ่งเป็นคนขาย คนขายต้องนั่งยึดเสา หรือยึดสิ่งถาวรเป็นหลัก ให้คนที่เป็นแตงโม ซึ่งจะมีกี่คนก็ได้นั่งยึดเอาไว้ให้แน่น แล้วให้คนอื่นๆ ยึดเอวต่อๆ กันไป จนหมดจำนวนคน ผู้ขายต้องถามว่า จะซื้อใบไหน ผู้ซื้อจะเอานิ้วดีดศีรษะเหมือนดีดแตงโมจริงๆ แล้วบอกว่า ต้องการใบไหน คนขายให้หยิบเอาเอง คนซื้อจะพยายามดึงแตงโมลูกนั้นให้ออกมา ผู้ที่เป็นแตงโม จะยึดกันแน่นไม่ยอมปล่อย ถ้าแย่งได้ แตงโมคนนั้นจะต้องเป็นของผู้ซื้อ ระหว่างเล่นจะมีการโต้ตอบกัน ดังนี้
ผู้ซื้อ "แตงโมลูกละเท่าไร"
ผู้ขาย "๕ บาท"
ผู้ซื้อ "เลือกได้ไหม"
ผู้ขาย "ได้ ดีดก็ได้ เจาะก็ได้ ชิมก็ได้"
ผู้ซื้อ (จะเอามือดีดศีรษะแตงโม)
การเล่นชนิดนี้ฝึกความรักพวกพ้อง ความพร้อมเพรียง ความอดทน ความสนุกสนาน เกิดจากการโต้ตอบ และการดีดศีรษะเล่น ภาคอีสาน เรียกการเล่นชนิดนี้ว่า "ตะลุมตุมปุ๊ก"
บทร้องประกอบมีว่า ตะลุมตุมปุ๊ก หน่วยไหนสุกเลือกได้เลือกเอา หน่วยไหนเน่าส่งเจ้ากลับคืน

ซักส้าว
วิธีเล่น ผู้เล่นยืนหันหน้าเข้าหากัน ยื่นมือทั้งสองยึดกัน แล้วโยกแขนไปมา พร้อมทั้งร้องเพลง
บทร้องประกอบการเล่นมีว่า
ซักส้าวเอย มะนาวโตงเตง ขุนนางมาเอง ว่าจะเล่นซักส้าว มือใครยาวสาวได้สาวเอา มือใครสั้นเอาเถาวัลย์ต่อเข้า

โพงพาง
วิธีเล่น หาคนที่เป็นปลาโดยการจับไม้สั้นไม้ยาว เอาผ้าผูกตาคนที่เป็นปลา แล้วหมุน ๓ รอบ ผู้เล่นคนอื่นๆ ล้อมวงจับมือกันเดินเป็นวงกลม พร้อมกับร้องเพลงประกอบ เมื่อจบเพลงนั่งลงถามว่า "ปลาเป็นหรือปลาตาย" ถ้าตอบว่า ปลาเป็น คนที่อยู่รอบวงจะยับเขยื้อนหนีได้ ถ้าบอกปลาตายจะต้องนั่งอยู่เฉยๆ หากคนที่ถูกปิดตาทายถูกว่า ผู้ที่ตนจับได้เป็นใคร ผู้ที่ถูกจับนั้น ก็ต้องมาเป็นปลาแทน ถ้าทายผิดก็ต้องเป็นต่อไป
บทร้องประกอบการเล่นมีว่า
โพงพางเอย ปลาเข้าลอด ปลาตาบอด เข้าลอดโพงพาง
การละเล่นชนิดนี้ฝึกความสังเกต ความจำ และความมีไหวพริบ การเล่นชนิดนี้คล้ายการเล่น "เชโค" ของภาคใต้ แต่บทร้องต่างกัน มีหลายบทเช่น "เชโคโยยานัด ฉัดหน้าแข้ง เดือนแจ้งมาเล่นเชโค" ทุกบทแสดงว่า เล่นเวลาเดือนหงาย บางจังหวัดมีการเล่นเช่นนี้ แต่ไม่มีบทร้องเรียกว่า "เสืองม" "นายโม่"
หม้อข้าวหม้อแกง
ผู้เล่นไม่จำกัดจำนวน อุปกรณ์การเล่นนั้น เมื่อก่อนจะมีหม้อข้าวหม้อแกง เตา ครก เครื่องใช้ในการทำครัวขาย ทำจำลองของจริง มีขนาดย่อม และขนาดเล็ก น่ารัก เด็กจะชอบมาก
วิธีเล่น นำเครื่องครัวมาใช้หุงหาอาหารแบบผู้ใหญ่ บางทีก็ใช้ของจริง เช่น ข้าวนำมาหุง ไข่นำมาทอด บางทีก็ใช้กับข้าวสมมุติ เช่น ใช้ใบไม้ เปลือกผลไม้ นำมาหั่น ทำเป็นกับข้าว ใช้ใบตองห่อทราย สมมุติเป็นขนมนึ่ง และใช้เกสรดอกไม้ ใส่กระทงทำเป็นขนมหวานต่างๆ
โปลิสจับขโมย
วิธีเล่น ฝ่ายหนึ่งสมมุติให้เป็นขโมย อีกฝ่ายหนึ่งเป็นโปลิส เพราะสมัยก่อนไม่มีใครเรียก "ตำรวจ" ใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ชะรอยตำรวจจะเป็นอาชีพที่คนเกรงขามมาก จึงนำมาตั้งชื่อฝ่ายที่เป็นผู้วิ่งจับ และถ้าจับได้ก็มีหน้ามีตาการเล่นนั้น ผู้เป็นขโมยจะต้องมีวิธีพลิกแพลง ซ่อน หรือหลบหลีกด้วยวิธีต่างๆ
การเล่นชนิดนี้ฝึกความมีไหวพริบ และออกกำลัง ภาคใต้มีวิธีเล่นที่คล้ายกัน เรียกว่า "โจรลักวัว" แต่มีการสมมุติเป็นเจ้าบ้านถูกลักวัวไป ต่อมานำความไปบอกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แล้วทั้งหมดจึงตามโจรที่ลักวัวไป
ขี่ม้าก้านกล้วย
อุปกรณ์การเล่น ได้แก่ ก้านกล้วย นำมาตัดเป็นรูปม้า ตอนโคนเป็นหัว ตอนปลายเป็นหาง ใช้สายจากก้านกล้วยโยงเป็นบังเหียน

วิธีเล่น นำก้านกล้วยที่ทำเป็นรูปม้าแล้ว มาเป็นตัวม้า ให้ผู้ขี่ขึ้นขี่ แล้ววิ่งไปรอบๆ ทำท่าเหมือนขี่ม้า ทุกคนแข่งขันกันว่า ใครจะวิ่งได้เร็วกว่ากัน หรือมิฉะนั้นก็วิ่งไปรอบๆ เหมือนขี่ม้าแข่ง การเล่นชนิดนี้ ฝึกให้มีจินตนาการ และให้ทำท่าเหมือนม้า เป็นการออกกำลังกายอย่างดี

ปี่ตอซัง
ผู้เล่นไม่จำกัดจำนวน อุปกรณ์การเล่น ใช้ตอซังข้าว ซึ่งมีลักษณะเป็นปล้องคล้ายไม้ไผ่บางๆ มาปล้องหนึ่ง ตัดตาปล้องทางโคนทิ้งไป แล้วปาดผิวแฉลบลึกลงไปหาตาปล้องที่เหลือ ให้มีความยาวประมาณ ๑ เซนติเมตร ผิวที่ปาดแฉลบทำหน้าที่เป็นลิ้นปี่

วิธีเล่น เมื่อเป่าอมส่วนที่เป็นลิ้นปี่เข้าไปไว้ในปาก แล้วลองเป่าดู โดยปรับเสียงได้ ด้วยการเฉือนทางโคนออกให้สั้นเข้ามาเรื่อยๆ จนได้เสียงที่ต้องการ ถ้าเฉือนจนไม่มีที่จะเฉือนแล้ว ก็หาปล้องตอซังมาทำใหม่อีก การเล่นประเภทนี้ เป็นการนำวัสดุธรรมชาติมาประดิษฐ์เป็นของเล่น เด็กจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเสียงสูง ต่ำ ได้ฝึกประสาทหู และฝึกประดิษฐ์เครื่องดนตรีแบบง่ายๆ เมื่อทำสำเร็จ เด็กจะเกิดความภาคภูมิใจ และความเชื่อมั่นในตนเอง ภาคใต้มีการเล่นปี่ซังข้าว ปี่ใบตอง คือ นำซังข้าว และใบตอง มาทำปี่ สำหรับเป่าและประดิษฐ์เป็นรูปต่างๆ

ตีลูกล้อ
ผู้เล่นไม่จำกัดจำนวน อุปกรณ์การเล่น ยางรถจักรยาน หรือวงล้อไม้เป็นซี่ๆ ขนาดเหมาะมือ หรือขอบของกระด้งที่ไม่ใช้แล้ว

วิธีเล่น กำหนดจุดเริ่มต้น และเส้นชัยไว้ แต่ละคนนำลูกล้อของตนเองมาที่จุดเริ่มต้น และวิ่งเอาไม้ตีลูกล้อให้กลิ้งไป แข่งกันว่า ใครจะถึงเส้นชัยก่อนกัน ผู้ที่ใช้วงล้อจะได้เปรียบ เพราะวงล้อมีร่อง สำหรับใส่ยาง เอาไม้ดันได้สะดวกและตรงกว่า ไม่แกว่งไปแกว่งมา ใครถึงเส้นชัยก่อนคนนั้นก็ชนะ

สิกไม้ย่างกางเกง
ในภาคเหนือ ไม้กางเกงมี ๒ ชนิด ชนิดแรกทำด้วยกะลามะพร้าวผ่าครึ่ง ๑ คู่ วางคว่ำลงกับพื้น เจาะรูร้อยเชือกที่ก้นกะลา ข้างละ ๑ เส้น ความยาวเท่าที่จะใช้มือดึงได้ในขณะที่ยืนอยู่ ชนิดที่ ๒ ทำด้วยไม้ไผ่ท่อนโตยาวประมาณ ๑ คืบ ๑ คู่ ยกไม้ไผ่ท่อนเล็กขึ้น คะเนดูสูงตามต้องการ แล้วทำเครื่องหมายไว้ เจาะรูตรงเครื่องหมายให้ทะลุไปอีกข้างหนึ่งหาไม้เหนียวๆ หรือเหล็ก สอดนำไปในรูทำสลัก เอาไม้ท่อนโตมาบากรู สวมลงทางปลายของไม้ไผ่ท่อนเล็ก ให้เลื่อนลงมาอยู่ตรงสลัก แล้วหาผ้ามาพัน เพื่อจะได้ไม่เจ็บง่ามเท้า
การเล่นสิกไม้ย่างกางเกงชนิดใช้ไม้กางเกงที่ทำจากไม้ไผ่
ชนิดใช้ไม้กางเกงที่ทำจากไม้ไผ่      วิธีเล่น ชนิดที่ ๑ ยืนบนกะลามะพร้าว ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้คีบเชือกไว้ ดึงเชือกให้ตึง แล้วยกเท้าก้าวเดิน ชนิดที่ ๒ ขึ้นเหยียบบนท่อนไม้โต มือจับไม้ท่อนเล็กให้ตั้งฉากกับพื้น ใช้งามเท้าคีบไม้ท่อนเล็ก ก้าวเดินคล้ายกับเดินธรรมดา เด็กต้องทรงตัวบนไม้กางเกง ยิ่งสูงยิ่งสนุก แล้วเดินแข่งกัน การเล่นประเภทนี้ เป็นการใช้วัสดุตามธรรมชาติในพื้นที่แถบนั้น มาประดิษฐ์เป็นเครื่องเล่น เป็นการฝึกให้เด็กได้ใช้มือ และมีความคิดสร้างสรรค์ในการหัดเล่น เด็กจะได้ฝึกการทรงตัว ฝึกความอดทน ความมานะพยายาม และในขณะเล่น เด็กจะได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน

การเล่นชนิดนี้มีในภาคอื่นๆ การเล่นชนิดที่ ๑ นั้น เล่นกันทั้งเด็กชาย และเด็กหญิง ส่วนการเล่นชนิดที่ ๒ เป็นการเล่นเฉพาะเด็กชาย การเล่นชนิดที่ ๑ ภาคอีสานเรียกว่า "เดินหมากกุบกับ" ภาคกลางเรียกว่า "เดินกะลา" ภาคใต้เรียกว่า "กุบกับ" การเล่นชนิดที่ ๒  ภาคอีสานเรียกว่า "ขาโถกเถก" ภาคใต้เรียกว่า "ทองสูง"

หมาตายตึ่ง
วิธีเล่น ในภาคอีสาน ผู้เล่นจะสมมุติคนใดคนหนึ่งเป็นหมาเน่าลอยน้ำมา โดยให้นอนหงายลอยน้ำ แล้วผู้เล่นคนอื่นๆ จะขมวดผ้าขาวม้าให้เป็นปมทั้งสองชาย แล้วคลุมผู้ที่นอนลอยน้ำอยู่ ให้ปมทั้ง ๒ ข้างอยู่ที่ศีรษะและเท้า แล้วพุ้ยน้ำให้ผ้าพองขึ้น สมมุติเป็นสุนัขเน่าพองลอยน้ำมา
การเล่นชนิดนี้ เกิดจากการที่เด็กสังเกตสภาพแวดล้อม แล้วเลียนแบบ โดยสมมุติตนเองให้เป็นเช่นนั้นบ้าง นอกจากนี้ เด็กยังได้ฝึกการลอยตัวในน้ำอย่างสนุกสนาน ภาคกลางเรียกการเล่นชนิดนี้ว่า "หมาเน่า"
บทล้อเลียน นอกจากบทร้องเล่นแล้ว ยังมีบทร้องที่แสดงการล้อเลียน ได้แก่
ผมจุก : ผมจุก คลุกน้ำปลา เห็นขี้หมานั่งไหว้กระจ๊องหง่อง
ผมเปีย : ผมเปีย มาเลียใบตอง พระตีกลอง ตะลุ่มตุ้นเม้ง
ผมแกละ : ผมแกละ กระแดะใส่เกือกตกน้ำตาเหลือก ใส่เกือกข้างเดียว
ผมม้า : ผมม้า หน้าเหมือนแมว ดูไปแล้วหน้าเหมือนหมา
บทล้อเลียนนี้สะท้อนสังคมในภาคกลางให้เห็นว่า เด็กหญิงชายในภาคกลางไว้ผมอย่างไร และยังช่วยฝึกการใช้ภาษา

การเล่นในน้ำ

เก้น้ำ
วิธีเล่น ในภาคใต้มีวิธีเล่น คือ เมื่อตกลงกันว่า ใครจะเป็นแม่เก้แล้ว ผู้เล่นทั้งหมดก็จะพากันว่ายน้ำหนี แม่เก้ก็ไล่จับโดยวิธีว่ายตาม หรือดำน้ำตาม จับใครได้คนนั้นก็ตาย ไม่มีการช่วยเหลือกันเหมือนเก้พวก คนถูกจับได้คนสุดท้ายต้องเป็นแม่เก้ต่อไป แล้วเริ่มเล่นเกมใหม่ ผู้หนีบางคนจะหนีเข้าไปซ่อนอยู่ในกอบัว กอกก หรือกอผักตบชวา บางคนฉลาด ดำมุดอยู่ใต้น้ำ นานเกือบครึ่งชั่วโมง ปล่อยให้แม่เก้ตามหา ทั้งนี้เพราะฝ่ายที่ดำน้ำ ใช้วิธีหายใจทางสายบัว เป็นที่สนุกสนานกัน บางครั้งแม่เก้กับฝ่ายหนี ดำน้ำมาโผล่ขึ้นในที่เดียวกัน ต้องรีบว่ายหนีและจับกันอย่างสนุกสนาน การเล่นประเภทนี้ ฝึกการออกกำลังทุกส่วนของร่างกาย เพราะการว่ายน้ำต้องใช้ความสามารถของทุกส่วน นอกจากนั้น ยังฝึกความอดทนในการดำน้ำ และความมีไหวพริบในการหาที่ซ่อน ภาคกลางเรียกการเล่นชนิดนี้ว่า ปลาลงอวน

ขนมฝักบัว
ในภาคอีสาน ผู้เล่นเป็นเด็กหญิงจำนวนเท่าใดก็ได้ อุปกรณ์ใช้ผ้านุ่ง

วิธีเล่น ผู้เล่นจะนุ่งผ้ากระโจมอก พอ ลงน้ำแล้วก็พุ้ยอากาศให้เข้าในผ้าถุง เพื่อให้ผ้าโป่งขึ้นรอบๆ ตัวผู้เล่น แล้วรวบชายผ้าไว้ ปล่อยตัวให้ลอยน้ำจนกว่าชายผ้านั้นจะหลุด ทำให้ผ้าแฟบลง แล้วก็จะเริ่มเล่นใหม่ ประโยชน์ของการเล่นชนิดนี้ เป็นการฝึกพยุงตัวในน้ำ สำหรับผู้ที่ยังว่ายน้ำไม่เป็น ผู้ที่ว่ายน้ำเป็นแล้ว ก็ใช้วิธีนี้สำหรับลอยตัวเล่น เพิ่มความสนุกสนาน ภาคกลางเรียกการเล่นชนิดนี้ว่า "ตีโป่ง"


การเล่นปริศนาคำทาย
การเล่นชนิดนี้เป็นที่นิยมมาก มีเล่นกันทุกภาค เพราะให้ทั้งความสนุกสนาน และความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ฝึกให้เด็กรู้จักสังเกต และรู้จักใช้ความคิด ในด้านภาษาจะเห็นได้ว่า ปริศนาคำทายเหล่านี้ มักจะมีการเล่นคำและสัมผัส ใช้คำง่ายๆ สั้นๆ และคล้องจองกัน ทั้งยังสะท้อนความเป็นอยู่ ความเชื่อ และวัฒนธรรมของคนในสังคมนั้น ซึ่งจะแตกต่างกัน ตามสภาพของท้องถิ่นอีกด้วย
ตัวอย่างปริศนา คำทาย ได้แก่
ภาคกลาง 
อะไรเอ่ย ยามเช้าเดินสี่ขา ยามกลางวันเดินสองขา ยามเย็นเดินสามขา  (วัยเด็ก ,วัยหนุ่มสาว, วัยชรา)
อะไรเอ่ย ออกลูกไปแล้วไม่กลับ (ลูกปืน)
ภาคเหนือ 
ตัวเดียว สองหน้า หกลูก (หมอนโบราณ)
หัวมีสองหัว ตั๋วมีตั๋วเดียว หัวมีสองหัว ตัวมีตัวเดียว (ไม้คาน)
ภาคใต้ 
ต้นเป็นไม้ ฟันเป็นเหล็ก มีสองหาง ขี้ออกกลางหัว (กบไสไม้)
ต้นเท่าครก ใบหกวา ต้นเท่าขา ใบวาเดียว (มะพร้าว , กล้วย)
ภาคอีสาน
เฒ่าหัวล้าน โตนน้ำแต่เดิ้ก
เฒ่าหัวล้าน กระโดดน้ำแต่เช้า (ขันตักน้ำ)
กักอยู่ป่า งายูบ้าน บานได้ซูแล้ง
ต้นอยู่ป่า ง่ามไม้อยู่บ้าน บานทุกเย็น (กระบอกขี้ไต้)
นอกจากปริศนาคำทาย ซึ่งมักจะเล่นกันในเวลาค่ำคืน หรือฝนตกออกไปไหนไม่ได้ เป็นการเล่นสนุกสนาน และฝึกสมองไปด้วยแล้ว ยังมีบทร้องเล่น เด็กชอบร้อง ไม่มีท่าทางประกอบ เป็นการนำสิ่งแวดล้อมมาเป็นเนื้อร้อง บางทีก็แฝงจริยธรรมไปด้วย
บทร้องเล่น
จันทร์เจ้า
"จันทร์เจ้าขา ดิฉันถามข่าว พระจันทร์โศกเศร้า ดิฉันเป็นทุกข์ พระจันทร์เป็นสุข ดิฉันสบาย พระจันทร์เดือนหงาย ดิฉันเที่ยวเล่น เดือนมืดไม่เห็น ดิฉันนอนเสีย" แสดงความมีน้ำใจ
บทร้องเล่นนี้ มักร้องเล่นกันกลางนอกชาน หรือกลางลาน เวลาเดือนหงาย
ฝนตกฟ้าร้อง
"ฝนตกฟ้าร้อง น้ำนองท่วมบ้าน กบเขียดวิ่งพล่าน แมลงเม่าบินไขว้"
บทร้องเล่นนี้ มักร้องเล่นกัน เมื่อฝนตก ไปไหนไม่ได้ ก็ร้องเล่นตามสิ่งแวดล้อม
ผงเข้าตา
"ผงเข้าตา แมงดาหยิบออกจะคดข้าวตอกให้แมงดากิน" แสดงความกตัญญู
การละเล่นของเด็กไทยยังมีอีกมากมาย จะเห็นได้ว่า การละเล่นต่างๆ เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ในการพัฒนาร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา และการปฏิบัติตนในสังคม กล่าวคือ บริหารกายทุกส่วนให้แข็งแรง และว่องไว มีอารมณ์แจ่มใส สนุกสนาน ร่าเริง มีสติปัญญาเฉียบแหลม มีไหวพริบ มีความสังเกต ความคิด ความจำ มีการตัดสินใจที่ดี มีความรับผิดชอบ ความสามัคคี ความเห็นอกเห็นใจอันเป็นคุณธรรมอันดี นอกจากนั้น ยังฝึกให้มีความสามารถทางภาษา อันเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญอีกด้วย
การละเล่นของไทย หากได้มีการฟื้นฟูบางอย่างให้เหมาะสม จะเป็นการช่วยทางด้านเศรษฐกิจ เช่น นำวัสดุในท้องถิ่น มาทำเป็นของเล่น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น